การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
- Details
- Category: กระบวนการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์
- Hits: 1903
การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ (Seed Processing)
เมล็ดพันธุ์ที่ได้หลังจากการเก็บเกี่ยวมาจากแปลงขยายพันธุ์และได้ทำการจัดซื้อคืนเข้ามา ยังไม่สามารถใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีได้ เพราะมีสิ่งเจือปนมากมาย แต่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์คืน จำเป็นต้องมีการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ด้วยวิธีต่างๆ จึงจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีเมื่อไปถึงมือเกษตรกรผู้ใช้ปลูก
เมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามาปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ มี 2 ชั้นพันธุ์ คือ ชั้นพันธุ์ขยาย (ป้ายแสดงสีชมพู) และชั้นพันธุ์จำหน่าย (ป้ายแสดงสีฟ้า)
การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ หมายถึง การคัดแยกสิ่งเจือปนอันไม่พึงประสงค์ที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ออกไป เพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพดียิ่งขึ้น เช่น เมล็ดพันธุ์ชนิดอื่น หรือพันธุ์อื่น เมล็ดวัชพืช เมล็ดที่แตกหักไม่สมบูรณ์ เมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่สุกแก่ เศษฟาง รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ถูกโรคแมลงทำลาย การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์จะรวมถึง การทำความสะอาด คัดแยกขนาด การลดความชื้น การคลุกสารเคมีและการบรรจุถุงพลาสติกสาน การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ต้องอาศัยอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เช่นตะแกรงไปจนถึงเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ชนิดต่างๆ
การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ สามารถยกระดับคุณภาพทางสรีระวิทยา (ความงอก ความแข็งแรงในการงอก) คุณภาพทางกายภาพ (ความบริสุทธิ์ ขนาดของเมล็ดพันธุ์ การแตกช้ำ ความชื้น ความปราศจากแมลง) ไม่เสื่อมคุณภาพเร็ว หมายความว่า ถ้ามีสิ่งเจือปน โรคแมลงทำลาย และมีความชื้นสูง จะทำให้เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพเร็วกว่าปกติ เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะต้องทำการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
หลักการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ มีหลักสำคัญ 5 ประการ
1. ต้องแยกสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ออกจากเมล็ดพันธุ์ เช่น สิ่งเจือปน เมล็ดวัชพืช เมล็ดพืชชนิดอื่น เมล็ดที่ถูกแมลงทำลาย เมล็ดที่มีขนาดผิดปกติ
2. สูญเสียเมล็ดพันธุ์น้อยที่สุด กล่าวคือ การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ต้องมีเมล็ดพันธุ์ดีสูญเสียไปน้อยที่สุด ทั้งนี้ เพราะการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ เป็นการคัดแยกเมล็ดพันธุ์เสีย หรือเมล็ดที่ไม่ต้องการออกไป บางครั้งเมล็ดดีอาจถูกคัดแยกออกไปด้วย
3. คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้เพราะเมล็ดที่แตดหัก เมล็ดลีบ เมล็ดที่ไม่ได้ขนาด เมล็ดที่มีโรคและแมลงทำลาย ถูกคัดออกไป ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีขนาดสม่ำเสมอสะดวกต่อการใช้ปลูก
4. มีประสิทธิภาพในผลงานสูง คุ้มกับการลงทุนได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีเป็นที่ยอมรับทั่วไป
5. ควรใช้แรงงาน และค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด (ในกรณีค่าแรงงานสูง และหายาก)
การเตรียมการก่อนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
1. การวางแผนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
2. การเตรียมวัสดุการผลิต
3. การป้องกันการปะปนพันธุ์
4. การตรวจความพร้อมของเครื่องจักรกลการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์
5. ความพร้อมของบุคลากร และแรงงาน
ขั้นตอนการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ มีดังนี้
1. เครื่องทำความสะอาดเบื้องต้น (Pre Cleaner) มีตะแกรง 3 ชั้น ลมบน ลมล่าง คัดเศษฟาง ก้อนหิน แกลบ ดอกหญ้า และอื่นๆออก
2. การอบลดความชื้น (Drying) ถ้ามีความชื้นสูง จะต้องทำการอบลดความชื้น ถังอบลดความชื้น มี 6 ถังๆละ 20 ตัน ใช้น้ำมันในการอบลดความชื้น
3. เครื่องคัดทำความสะอาดด้วยตะแกรงและลม (Air Sereen Cleaner) มีตะแกรง 5 ชั้น ถือว่าเป็นการคัดขนาดและรูปร่างให้ได้ขนาดใกล้เคียงและสม่ำเสมอ เครื่องคัดเครื่องนี้ก็ยังใช้ลมบนและลมล่าง ในการช่วยคัดสิ่งเจือปน และเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่พึ่งประสงค์ที่อาจจะติดมา ในการคัดต้องมีการตรวจสอบคุณภาพจากกลุ่มควบคุมคุณภาพ (ห้องแล็ป) ว่ามีเมล็ดพันธุ์ดีออกไปกับสิ่งเจือปนมากเกินไป และมีเมล็ดเสียไปกับเมล็ดพันธุ์ดีเกินมาตรฐานหรือไม่
4. เครื่องคัดขนาดโดยน้ำหนัก (Gravity Separator) เป็นด่านสุดท้าย ถ้าเมล็ดไหนที่มีแมลงทำลาย จะมีน้ำหนักเบา บางครั้งรูปร่างได้ เครื่องคัดเครื่องนี้จะทำการคัดออกไป (เครื่องคัดเครื่องนี้อาจจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามาว่ามีแมลงทำลายและโรคเมล็ดด่างหรือไม่ เพื่อลดการตกกระทบและการช้ำของเมล็ดพันธุ์)
5. เครื่องคลุกสารเคมี (Seed Treater) ใช้สารเคมีกันเชื้อราและสารเคมีฆ่าแมลง ส่วนนี้สามารถแก้ปัญหาเมล็ดเน่าและแมลงทำลาย เพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง ไม่มีแมลงและไม่เป็นรา ความแข็งแรงก็จะดี แต่ถ้าความต้องการของลูกค้าไม่ต้องการคลุกสารเคมีก็สามารถทำตามความต้องการได้
6. การบรรจุเมล็ดพันธุ์ บรรจุถุงพลาสติกสาน ถุงละ 25 กิโลกรัม บรรจุวางบนแคร่ไม้ แคร่ละ 40 ถุง เท่ากับ 1 ตัน ( 1,000 กิโลกรัม) โดยที่ถุงบรรจุมีการติดป้ายแสดงชนิดเมล็ดพันธุ์ ชื่อพันธุ์ วัน เดือน ปี สถานที่ผลิต เป็นต้น
ด้านประสิทธิภาพ
การปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ 1 วัน ปรับปรุงได้ 20 ตัน ถึง 25 ตัน พนักงานปรับปรุง 8 คน (ในเวลาราชการ)
ในแต่ละปี ผลิตอยู่ประมาณ 3,000 – 4,000 ตัน
ฤดูฝน เริ่ม เดือน ธันวาคม – เมษายน และฤดูแล้ง เริ่ม พฤษภาคม – มิถุนายน ของทุกปี